Skip to content

แนะนำมาตรฐานติดตั้งไฟฉุกเฉิน สำหรับอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม

การติดตั้งไฟฉุกเฉินที่ถูกต้องในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม

ไฟฉุกเฉิน หรือ Emergency Light คืออุปกรณ์ให้แสงสว่างในอาคารเมื่อเกิดเหตุไฟดับ ไฟไหม้ หรือสภาพการมองเห็นต่ำ ซึ่งจะส่องสว่างทันทีหลังจากไฟดับ ทำงานโดยอาศัยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สำรอง นอกจากการติดตั้งไฟฉุกเฉินจะให้ความสว่างกรณีไฟฟ้าดับแล้ว ยังเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานไฟฉุกเฉินที่ต้องยึดถือปฏิบัติตามอีกด้วย โดยเฉพาะในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม

การติดตั้งไฟฉุกเฉินสำคัญอย่างไร

การติดตั้งไฟฉุกเฉินเป็นสิ่งสำคัญ สามารถช่วยให้ผู้คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถมองเห็น และอพยพออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ข้อกฎหมายได้มีการกำหนดเป็นมาตรฐานของอุปกรณ์ไฟฉุกเฉิน รวมถึงด้วยตำแหน่งที่ควรติดตั้งไฟฉุกเฉิน ดังนี้

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานติดตั้งไฟฉุกเฉิน

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งไฟฉุกเฉิน

ข้อกำหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานติดตั้งไฟฉุกเฉิน กำหนดไว้ดังนี้

  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 26 บันไดหนีไฟที่อยู่ภายในอาคารต้องมีผนังกันไฟโดยรอบ ยกเว้นช่องระบายอากาศและต้องมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินให้มองเห็นช่องทางได้ขณะเพลิงไหม้ และมีป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟที่ด้านในและด้านนอกของประตูหนีไฟทุกชั้นด้วยตัวอักษรที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยตัวอักษรต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 10 เซนติเมตร
  • กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 ข้อ 10 ให้นายจ้างจัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอสำหรับเส้นทางหนีไฟในการอพยพลูกจ้างออกจากอาคารเพื่อการหนีไฟ รวมทั้งจัดให้มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรองที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเพื่อการหนีไฟ และสำหรับใช้กับอุปกรณ์ดับเพลิงขั้นต้นหรืออุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้องได้ในทันทีที่ไฟฟ้าดับ
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ผู้ประกอบกิจการอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย มีไว้ซึ่งอุปกรณ์เครื่องช่วยในการหนีไฟจากอาคารที่ประกอบกิจการ โดยระบุไว้ในคู่มือท้ายประกาศ
  • มาตรฐานการออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน ออกโดยสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

ตำแหน่งที่ควรติดตั้งไฟฉุกเฉิน

การติดตั้งไฟฉุกเฉินตามมาตรฐาน ควรติดตั้งสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 2 เมตร โดยติดตั้งในตำแหน่งเส้นทางหนีภัย เช่น ประตูทางออก ทางแยก ทางเลี้ยว พื้นต่างระดับ บันไดเลื่อนและทางเลื่อน จุดรวมพลเพื่อการหนีภัยภายในอาคาร ดาดฟ้าและบริเวณพื้นที่รอการหนีภัยทางอากาศ และพื้นที่อื่น ๆ เช่น ห้องน้ำ พื้นที่เปิดโล่งภายในอาคาร จุดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง พื้นที่อันตรายเช่นห้องไฟฟ้าเครื่องกล ฯลฯ

การพิจารณาเลือกซื้อไฟฉุกเฉินควรเลือกจากอะไร

การพิจารณาเลือกซื้อไฟฉุกเฉินควรเลือกจากอะไร

การเลือกซื้ออุปกรณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นป้ายทางหนีไฟ หรือ ไฟฉุกเฉิน ก็ต้องเลือกที่มีอุปกรณ์ไฟฉุกเฉินที่มีมาตรฐานการรับรองจากสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ ยิ่งเป็นอาคารใหญ่หรือโรงงานที่มีคนทำงานมากมาย ความปลอดภัยยิ่งต้องเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงฟังก์ชันการทำงานของโคมไฟฟ้าฉุกเฉินที่ต้องตอบโจทย์การใช้งานตามสถานที่ต่าง ๆ

1. ไฟฉุกเฉินมีมาตรฐานที่ดี

ไฟฉุกเฉินในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม ควรได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ได้ยึดถือปฏิบัติตามมาอย่างยาวนาน เพื่อความปลอดภัยของคนหมู่มาก 

2. ความสองสว่างขั้นต่ำเพื่อการหนีภัย

มาตรฐานไฟฉุกเฉินที่ดีต้องมีความส่องสว่างที่เหมาะสม เพื่อให้มองเห็นอันตราย การเปลี่ยนระดับพื้น และทิศทางของเส้นทาง รวมถึงตำแหน่งอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ในสภาวะที่ระบบไฟฟ้าปกติล้มเหลว ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินต้องมีความสว่างเพียงพอ 

  • ทางหนีภัยกว้างไม่เกิน 2 เมตร ต้องมีความส่องสว่างที่พื้นตรงเส้นกึ่งกลางไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์ และบนแถบกลางที่มีความกว้างอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเส้นกึ่งกลาง ต้องมีความส่องสว่างไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าขั้นต่ำที่กำหนด
  • ทางหนีภัยกว้างเกิน 2 เมตร  ต้องแบ่งความกว้างเป็นแถบเท่าๆ กัน แถบละไม่เกิน 2 เมตร หรือกำหนดให้มีระดับความส่องสว่างทั่วพื้นที่โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
  • พื้นที่โล่งภายในอาคารที่ไม่มีทางหนีภัยชัดเจน ต้องมีความส่องสว่างทั่วพื้นที่ไม่น้อยกว่า 0.5 ลักซ์ ยกเว้นพื้นที่ที่ห่างจากผนังในระยะ 0.5 เมตรโดยรอบ
  • พื้นที่งานความเสี่ยงสูง ต้องมีความส่องสว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของค่าระดับความส่องสว่างในเวลาปกติ และต้องไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์
  • พื้นที่เตรียมการหนีภัยและจุดปฏิบัติการ จุดรวมพล พื้นที่ปฏิบัติงานของพนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่กู้ภัย และห้องควบคุมการปฏิบัติงาน ต้องมีความส่องสว่างที่พื้นไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์
  • พื้นที่เก็บอุปกรณ์ฉุกเฉิน บริเวณอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์แจ้งเหตุ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ต้องมีความส่องสว่างในแนวระนาบดิ่งไม่น้อยกว่า 5 ลักซ์ โดยติดตั้งโคมไฟฉุกเฉินในระยะห่างไม่เกิน 2 เมตรจากจุดกึ่งกลางอุปกรณ์

3. ความจุและชนิดของแบตเตอรี่

แบตเตอรี่ของไฟฉุกเฉิน ต้องสามารถจ่ายไฟไม่ต่ำกว่า 120 นาที มีแรงไฟฟ้าต่ำสุดไม่น้อยกว่า 80% ของแรงดันพิกัดปกติ รวมถึงมีเวลาอัดประจุไม่เกิน 24 ชั่วโมง

4. ระยะเวลาเริ่มทำงานของไฟฉุกเฉิน

ไฟฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน ต้องให้แสงสว่างทันทีหรือภายใน 0.5-5 วินาทีหลังไฟฟ้าดับ โดยทั่วไป โคมไฟฟ้าฉุกเฉินที่ติดตั้งในอาคาร ต้องส่องสว่างต่อเนื่อง 90-120 นาที แต่ในกรณีโรงงานโดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ จะต้องสามารถส่องสว่างไม่น้อยกว่า 120 นาที

สรุปเกี่ยวกับมาตรฐานติดตั้งไฟฉุกเฉิน

การติดตั้งไฟฉุกเฉินมีความสำคัญมากในกรณีเกิดเหตุไฟไหม้ หรือไฟดับ โดยเฉพาะบริเวณในอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีคนหมู่มากอาศัยและทำงานอยู่ เป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่ต้องรีบอพยพออกในเวลาสั้น ๆ การติดตั้งไฟฉุกเฉินจึงควรมีมาตรฐานไฟฉุกเฉินตามที่กฎหมายกำหนด

หากคุณสนใจซื้อไฟฉุกเฉิน Sunny Emergency Light มีบริการจัดจำหน่ายไฟฉุกเฉินคุณภาพได้มาตรฐาน 

สนใจสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จาก SUNNY ได้ที่

หรือเลือกซื้อสินค้าผ่านร้านโมเดิร์นเทรดอย่าง ไทวัสดุ โฮมโปร เมกะโฮม Bean & Beyond หรือ ตัวแทนจำหน่ายไฟฉุกเฉิน SUNNY ใกล้บ้านคุณ สามารถปรึกษาหรือเลือกซื้อสินค้าของเราได้ที่เว็บไซต์ หรือติดต่อเราได้ที่ 02-378-1034